ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ
THE ANLYTICAL STUDY OF THE VENERABLE BUDDHADASA’S
THE LITERARY WORK OF HANDBOOK FOR MANKIND BUDDHADASA BHIKKHU

โดย

พระประสิทธิ์ ปภาธโร

๑.๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เมื่อครั้งพ่อขุนรามมหาราชโปรดให้จารึกบนแผ่นศิลา ซึ่งเรียกกันว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งมีเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับศาสนธรรม ศาสนประวัติ ศาสนพิธี ศาสนวัตถุแทรกอยู่ และต่อจากนั้นมาก็มีวรรณกรรมทางศาสนาติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นส่วนใหญ่มีเรื่องเกี่ยวกับศาสนพิธีกรรมและพระมหากษัตริย์ จึงมีเนื้อเรื่องคล้ายวรรณกรรมสุโขทัย ส่วนลักษณะการแต่งแตกต่างกับวรรณกรรมสุโขทัยเป็นอย่างมาก วรรณกรรมในสมัยนี้แต่งด้วยร้อยกรองทั้งสิ้นคำประพันธ์ที่ใช้เกือบทุกชนิด คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ ขาดแต่กลอนส่วนใหญ่แต่งเป็นลิลิต คำบาลี สันสกฤตและเขมรเข้ามาปะปนในคำไทยมากขึ้นวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น มีเรื่องมหาชาติคำหลวง เป็นวรรณกรรมเล่มแรกที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้ประชุมปราชญ์ราชบัณฑิต ให้ช่วยกันแต่งขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๐๒๕ เพราะมหาชาติคำหลวง แปลว่า การเกิดที่ยิ่งใหญ่ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงการบำเพ็ญทานอย่างยิ่งใหญ่ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ครบทั้ง ๑๐ บารมี โดยการบำเพ็ญบารมีที่ยากยิ่งก็คือทานบารมีนั่นเอง และเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กล่าวเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการบริจาคบุตรและภรรยา ซึ่งเป็นการยากหาผู้จะทำได้ พระองค์ทรงบริจาคทานทุกอย่างด้วยศรัทธาแรงกล้า มหาชาติคำหลวง ซึ่งได้กล่าวแล้วว่า ฉบับเดิมเป็นภาษามคธ แต่งเป็นปัฐยาวัตรฉันท์ มีจำนวน ๑,๐๐๐ บท หรือพันคาถาด้วยกัน
จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเรื่องกาพย์มหาชาติเป็นวรรณกรรมเล่มแรกว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นผู้แต่ง จนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมามีวรรณกรรมอีกเรื่องคือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมีหลายชื่อเรียกได้แก่ "ไตรภูมิพระร่วง" "เตภูมิกถา" "ไตรภูมิกถา" "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" และ "เตภูมิโลกวินิจฉัย"เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๘ โดยพระราชดำริในพระยาลิไท ซึ่งรวบรวมจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสัณฐาน ที่แบ่งเป็น ๓ ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิวรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ คติความเชื่อของชาวไทย เป็นจำนวนมาก เช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ (เช่น ชมพูทวีป ฯลฯ) ระยะเวลากัปป์กัลป์ กลียุค การล้างโลก พระศรีอาริย์ มหาจักรพรรดิราช แก้วเจ็ดประการ
ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงภูมิ (แดน) ทั้ง ๓๑ คือ กามภูมิ๑๑, รูปภูมิ ๑๖ และอรูปภูมิ ๔ ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงที่อยู่ ที่ตั้ง และการเกิดของมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และเทวดา ที่ตั้งเหล่านี้มีเขาพระสุเมรุเป็นหลัก เขาพระสุเมรุนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางจักรวาล มีทิวเขาและทะเลล้อม ทิวเขามีชื่อต่างๆดังนี้ ๑. ยุคนธร ๒. อิสินธร ๓. กรวิก ๔. สุทัศน์ ๕. เนมินธร ๖. วินตก และ๗.อัศกรรณ ซึ่งเป็นเขารอบนอกสุด ทิวเขาเหล่านี้รวมเรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ ส่วนทะเลที่รายล้อมอยู่ ๗ ชั้น เรียกว่า มหานทีสีทันดร ถัดจากทิวเขาอัศกรรณออกมาเป็นมหาสมุทรอยู่ทั่วทุกด้าน แล้วจะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบเรียกว่า ขอบจักรวาล พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล ฯลฯ ลักษณะวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ระยะ
๑. ระยะก่อนได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก
๒. ระยะหลังได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก
วรรณกรรมศาสนาช่วงก่อนได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก วรรณกรรมในช่วงนี้ มีวรรณกรรมไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ หรือต้นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มีที่มาจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ใช้สอนประชาชนให้มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาและตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม คุณงาม ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม แนวคิดของเรื่อง เน้นหลักพุทธปรัชญา คืออนิจจังหรือสัจจธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฏพระไตรลักษณ์มีเน้นเรื่องการทำบุญกุศลเพื่อจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี เชื่อว่าความสุขที่แท้จริงคือความสุขสงบร่มเย็นแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเกิดจากการศึกษาปฏิบัติตามหลักพระพระธรรมคำสอน ลักษณะการแต่งวรรณกรรมนั้น นิยมใช้รูปแบบร้อยกรองและมีภาษาบาลี-สันสกฤตแทรกในเนื้อเรื่องด้วยวรรณกรรมพระพุทธศาสนาช่วงหลังได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก ได้แก่วรรณกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อเรื่องเน้นเกี่ยวกับหลักธรรมะในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่สมมุติเพื่อสร้างเหตุการณ์ที่ควรประพฤติปฏิบัติ โดยการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ทางสังคม เนื้อเรื่องจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ เช่น หลักธรรมที่เกี่ยวกับความเป็นครู หลักธรรมที่เกี่ยวกับนักปกครอง แนวคิดเนื้อเรื่องมีการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องค่านิยมของสังคมและแก่นแท้ทางพระพุทธศาสนา แสดงความคิดความเชื่ออย่างมีเหตุผล รูปแบบการแต่งมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ส่วนที่เป็นร้อยแก้ว จะมีเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ที่มี่เนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรม และปรัชญาในทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นข้อคิดทางปัญญา
ปัจจุบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา มีการพัฒนาวิธีนำเสนอทางด้านรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าด้านการสื่อสารมวลชนการศึกษา และการติดต่อทางด้านวัฒนธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่
-วรรณกรรมเผยแผ่ศาสนา เช่น กฎแห่งกรรม ของ ท เลียงพิบูลย์
-ประเภทเสียดสีศาสนา เช่น ธรรมะนอกธรรมาสน์ ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
-ปรัชญาทางศาสนา เช่น ข้อเขียนอิสระ ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญในด้านการเผยแผ่วรรณกรรมเพื่อการพัฒนามนุษย์ ซึ่งมีการพัฒนาตั้งแต่การพัฒนาทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ และพัฒนาทางสติปัญญา จะเห็นได้จากหลักธรรมคำสอนที่เผยแผ่ในตำรา วรรณกรรมต่างๆ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีความแตกต่างจากสัตว์อื่นตรงที่ฝึกฝนพัฒนาได้มาก ด้วยการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญา จึงได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ และดำเนินชีวิตอยู่ในท่ามกลางสังคมได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเบียดเบียนทางด้านความคิด ด้วยการแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น เอารัดเอาเปรียบกัน แต่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มที่ และมีความมุ่งมั่นศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรม ถ้าประชาชนมีความเสื่อมทรามทางด้านจิตใจ การพัฒนาประเทศจึงชักจะให้ความสนใจ หันมาเน้นในเรื่องการพัฒนามนุษย์ และพัฒนาจิตใจ หันมาสนใจคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น
วรรณกรรมเรื่อง คู่มือมนุษย์ ถือว่าเป็นวรรณกรรมอีกเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งประเทศและชาวต่างประเทศ ได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาด้วย เพราะเป็นบันไดขั้นแรกของการศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะมุ่งชี้หลักเนื้อหา แก่นใจความสำคัญ สำหรับบุคคลปกติเพ่งพินิจพิจารณาหาเหตุผล เป็นหลักธรรมที่กล่าวเจาะจงถึงเนื้อแท้ของพุทธศาสนา ให้เข้าใจง่ายและลึกซึ้งขึ้นตามลำดับ เป็นหลักธรรมที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการศึกษา และพัฒนาชีวิตในหน้าที่การงานของตน เป็นการปฏิบัติตัวเอง อย่างมีหลักการในการจะรักษาอุดมคติ เพื่อยังประโยชน์สูงสุดให้เกิดแก่ชีวิตตนเอง และโลกด้วยว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตเราเกิดทำไม และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ชีวิตนี้ต้องการอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต ตอบว่าต้องการชีวิตสงบเย็นเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม ด้วยการไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา อุปาทาน นั่นคือเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐใจสูงมีคุณธรรม ถอนความยึดมั่นถือมั่นจากอัตตาตัวตน มีสติคุ้มครองรักษาชีวิตจิตใจตัวเอง รู้จัก บาป บุญ คุณโทษ สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้รู้ให้ตื่นจากความหลับใหลมัวเมา ให้มีชีวิตอยู่เหนืออกุศลธรรมทั้งปวง
วรรณกรรมเล่มนี้จะชี้ให้เห็นด้วยว่า พุทธศาสนาที่แท้นั้น พระพุทธเจ้าเริ่มสอนเรื่องอะไร และผลของการปฏิบัติตามคำสอน จะเป็นอย่างไรในที่สุด หากคำสอนของผู้ใด ผิดไปจากหลักที่อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ ถือได้ว่านั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากธรรมบรรยายของพระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ซึ่งตั้งใจจะให้เป็น คู่มือของมนุษย์ทุกๆคน โดยการบรรยายผ่านทางการอบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา โดยหวังว่า ถ้าท่านที่จะเป็นผู้พิพากษา จะเป็นปูชนียบุคคล ผู้มีเจตนาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องมุ่งรักษา “อุดมคติ”ของผู้รักษาความเป็นธรรมหรือผู้คุ้มครองธรรมโดยปราศจาก “อคติ๔” นั้นย่อมเป็นเสมือนหนึ่งอริยบุคคล หรืออย่างต่ำที่สุดก็กัลยาณปุถุชนด้วย การละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เท่าที่พระโสดาบันท่านละได้ ก็เป็นกำลังอันเพียงพอที่จะตัดหนทางของ “อคติ” ได้โดยสิ้นเชิง วรรณกรรมเรื่อง "คู่มือมนุษย์" เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าน่าศึกษาอย่างไรและ ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวไทยอย่างกว้างขวางมากที่สุด และให้ความรู้ทางด้านคุณธรรม ด้านจริยธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขทางใจ ไม่ว่าชาวโลกเขาจะวุ่นวายกันไปอย่างไร ทั้งนี้ก็เนื่องจากหลักธรรมแสดงถึงความเป็นอิสระทางใจอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นแนวทางและหลักปฏิบัติในการพัฒนาประชากรของประเทศไทยให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่านับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่ศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ พร้อมแนวคิดเรื่องการพัฒนามนุษย์ในวรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ และวิเคราะห์คุณค่าอิทธิพล งานวรรณกรรมที่มีต่อการพัฒนามนุษย์ เพื่อจะได้ทราบรูปแบบและวิธีการรวมทั้งปัญหาความต้องการต่างๆ ตลอดจนแนวทางแก้ไขการการพัฒนามนุษย์ในวรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ ตามส่วนที่จำเป็นต้องพัฒนาให้มีศักยภาพตามหลักธรรมในวรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านศึกษาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางสร้างสรรค์ ได้รับความรู้ทางลีลาการเขียนเรื่องคู่มือมนุษย์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่รวบรวมใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องคู่มือมนุษย์ในฐานะวรรณกรรมพระพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่ามากอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นการเผยแผ่หลักธรรมในรูปแบบวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ และเพื่อศึกษาคุณค่าและอิทธิพลของวรรณกรรมเรื่องคูมือมนุษย์ที่มีต่อการพัฒนามนุษย์ในสังคมไทย และก่อให้เกิดผลดีในการพัฒนาที่ยั่งยืนนานได้ต่อไปในอนาคต


วรรณกรรม หมายถึงสิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหรือเพื่อความมุ่งหมายใด เป็นงานประพันธ์ในสมัยปัจจุบัน
วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยอาศัยเนื้อหา สาระ หรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดจนนำบุคคลต่างๆในศาสนาได้แก่ศาสดาสาวก และผู้เกี่ยวข้องมาเป็นแก่นเรื่อง หรืออาจรวมถึงเรื่องราวที่คิดแต่งขึ้นใหม่ให้เป็นเรื่องในศาสนา ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของบุคคลให้ดีขึ้น
มนุษย์ หมายถึง ผู้มีจิตใจสูงและมีคุณธรรม รู้จักบาป บุญ คุณโทษ รู้จักสุข รู้จักทุกข์ รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักเหตุ รู้จักผล สิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร รู้จักวิธีดำเนินชีวิตอยู่ในท่ามกลางสังคมได้อย่างสันติสุขโดยไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น
การพัฒนามนุษย์ หมายถึง การพัฒนาให้เป็นผู้มีคุณธรรมความดีสมบูรณ์พร้อมด้าน กาย วาจา และจิตใจได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ลัทธิของพระเถระนิกายพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ซึ่งถือตามคติที่พระอรหันต์พุทธสาวกได้วางหลักธรรมวินัยเป็นแบบแผนไว้เมื่อครั้งปฐมสังคยานา ได้แก่พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือแพร่หลายในประเทศไทย พม่า ลังกา ลาว และกัมพูชา
สังคมไทย หมายถึง หมายถึง กลุ่มชนชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นต่างจากสังคมอื่นได้แก่ ภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย ความเชื่อ มารยาท อาหาร การดำเนินชีวิตที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เป็นต้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระประจำวันเกิด ภาษาอังกฤษ english version

แปลหนังสือสุทธิ english version

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่าน