ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เทศ งานบุญสลากภัตร

 

 นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ//ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ//นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต//อะระหะโต สัมมา//สัมพุทธัสสะ//  น หิ เวเรน เวรานิ   สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ  อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโนติ.

ขอน้อบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ขอโอกาสท่านเจ้าอาวาสและพระเถรานุเถระทุกรูปทุกท่าน ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชน ทั้งหลายที่ได้ตั้งจิตตั้งใจกันมา ร่วมทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ณ วัดไทยลาสเวกัสแห่งนี้  วันนี้ตรงกับวันพุธ ที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่โยมแม่น้อยละมัย ไอวิล และคุณพรรณิภา วงศ์พัฒน์ ไดัรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ในวันนี้ พร้อมด้วยคณะญาติธรรม เพื่อนสนิทมิตรสหายมากหน้าหลายตา ได้ตั้งจิตตั้งใจเสียสละเวลา นำภัตตาหารหวานคาว พร้อมทั้งจตุปัจจัยไทยธรรม นำมาเพื่อเป็นเครื่องประดับบูชากัณฑ์เทศน์ในวันนี้  บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาคือความเชื่อ วิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนา ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา จนกว่าจะยุติลงด้วยเวลาสืบไป การแสดงพระธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นกัณฑ์พิเศษ ปรารภเหตุ ประเพณีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนสิบของทุกๆปี ทางภาคอีสานเรียกว่า “ประเพณีบุญข้าวสาก”   หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สลากภัต” และในแต่ละภาคก็จะมีชื่อเรียกและกรรมวิธีที่กระทำแตกต่างกันไปตามความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันมา   ในวันนี้ บรรดาท่าน ผู้มีความกตัญญูกตเวทีอยู่ในดวงจิต ดวงใจ ได้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของท่านผู้ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ได้มาแสดงออกซึ่งคุณธรรม แสดงออกให้ปรากฎแล้วว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่มีญาติ ท่านทั้งหลายมิได้เป็นผู้ที่โดดเดี่ยว ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่มาในตระกูลอันงดงาม เป็นการประกาศเกียรติคุณแห่งญาติของท่านทั้งหลายว่า บรรพบุรุษของเราในอดีตกาลก่อนโน้น ก็เป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสอยู่ในพระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ได้มาทำบุญพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว วันนี้ท่านทั้งหลายได้ทำแล้วอย่างโอฬาร เพราะอาหารและสิ่งที่นำมาถวายแก่พระภิกษุสงฆ์องค์เจ้านั้น ได้จัดทำอย่างดี แสวงหามาด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อการแสวงหามานั้นเป็นเรื่องที่สะอาดและบริสุทธิ์ การกระทำของท่านก็เป็นไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ต้องการจะให้เป็นบุญเป็นกุศลแท้ๆ อานุภาพแห่งบุญกุศลก็ย่อมเพิ่มทวีในดวงใจหาประมาณมิได้ บารมีแห่งทานนั้นก็ย่อมมีปริมาณอันสูงสุด มีปริมาณมากเป็นพิเศษ ย่อมสำเร็จแก่เปตชนตามฐานะแห่งตนๆ ถ้าหากว่าบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว อยู่ในฐานะหรืออยู่ในวิสัยที่จะพึงรับทานนี้ได้ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล เหมือนดังที่พระคุณเจ้าเวลาจะอนุโมทนาทาน ที่ท่านได้กล่าวว่า ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ เป็นต้น แปลความว่า ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ ฉันนั้น ประเพณีการบุญ“สลากภัต” นั้น ป็นการถวายทานแด่สงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก หรือ เป็นทานที่ถวายตามสลาก ส่วน คำว่า “สาก” (ประเพณีบุญข้าวสากของชาวอีสาน) ก็มีที่มาจากคำว่า “สลาก” นั่นเอง..  โดยวิธีการจับสลากนั้นมีอยู่สองรูปแบบคือ เขียนชื่อหรือหมายเลขของผู้ที่ประสงค์จะถวายสลากลงในแผ่นกระดาษ แล้วให้พระสงฆ์จับ หากพระรูปใดจับได้ของผู้ใด ผู้นั้นก็จะถวายเครื่องไทยทานแก่พระรูปนั้น อีกวิธีหนึ่งคือ การเขียนเลขประจำตัวของพระสงฆ์แต่ละรูปใส่กระดาษแล้วให้ญาติโยมเป็นผู้จับ หากจับได้ของพระรูปใดก็จะถวายกับพระรูปนั้น แต่โดยส่วนมากแล้วสำหรับ “ประเพณีบุญข้าวสาก” จะใช้วิธีแรกคือการให้พระสงฆ์จับสลาก ก่อนวันพระขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของต่างๆทั้งอาหารแห้ง ข้าวต้มมัด สบู่ ยาสีฟัน ของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ มาทำการห่อใส่ชะลอมไม้ไผ่ (ปัจจุบันอาจจะใช้ตะกร้า หรือ ภาชนะอื่นๆที่สามารถใส่ได้สะดวก)  โดยชะลอมที่ใส่นั้น จะมีจำนวนเท่ากับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น  ครอบครัวนี้ประสงค์จะทำบุญให้กับบรรพบุรุษ หรือญาติมิตรที่ล่วงลับ 5 ราย ก็นำสิ่งของมาใส่ชะลอม 5 อัน แต่ในบางครอบครัวก็อาจจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนผู้ล่วงลับที่เหลือสามารถเขียนชื่อบอกกล่าวด้วยวาจาได้ เมื่อถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงเช้า ญาติโยมมักจะไปรวมกันที่วัด เพื่อใส่บาตรตามปกติ พอใส่บาตรเสร็จแล้ว จึงกลับมาบ้าน เพื่อเตรียมชะลอมที่ใส่สิ่งของต่างๆไปวัดอีกครั้งหนึ่ง  แล้วนำกระดาษตัดเป็นแผ่น เขียนชื่อเจ้าของสลากพร้อมหมายเลข และเขียนไว้ด้วยว่า การถวายสลากนี้อุทิศบุญให้กับใครบ้าง  จากนั้นพระสงฆ์ก็จะทำการจับสลาก หากจับได้ของผู้ใด ก็จะให้ผู้นั้นนำไปถวายตามหมายเลขของตน  ซึ่งวิธีการจับสลากนี้จะเห็นว่า เป็นการถวายทานโดยไม่ได้เจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จึงเข้าลักษณะของ “สังฆทาน” คือ การถวายทานโดยไม่เจาะจง อาหารและเครื่องไทยทานที่พระสงฆ์ได้รับการถวายจากญาติโยมจึงถือเป็นส่วนรวมในอาราม  ชาวอิสานบ้านเฮา ถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันเพ็ญ เดือนสิบ นอกจากนำสลากภัตรไปถวายพระภิกษุ แล้ว ยังนำอาหารหวานคาวส่วนหนึ่งทำเป็นกระทงไปวางไว้บริเวณวัด เพื่ออุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนชาวนาก็จะนำเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตน บางแห่งเรียกนางยักษ์ว่า "ผีตาแฮก เนาะโยมแม่แหม่ม

 ขณะเดียวกัน การทำบุญสลากภัต ก็มีประวัติความเป็นมา ปรากฎใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี ความโดยย่อมีอยู่ว่า ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้วก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงพูดว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้จริงๆ  ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้แก่มารดา  มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรชายว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้  ส่วนภรรยาของเจ้าบุตรชายกล่าวว่า การจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้นไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า "ธรรมดาบุตรย่อมฝืนคำมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา"นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า เกิดมีจิตคิดริษยา ด้วยกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยเกิดตั้งท้องมีลูกขึ้นมา ทั้งสามีและแม่ยายก็จะไม่ให้ความรักให้ความสำคัญแก่ตนอย่างเช่นเคย  นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งกำชับไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ เมียน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของเมียน้อยจึงตกแท้งไปถึง 2 ครั้ง พอครั้งที่สาม เมียน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงเมียหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องทางโอกาสที่จะผสมยาลงไปในอาหาร เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง เมียน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับเมียหลวงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในบ้านนั้นนั่นเอง ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าเมียหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของเมียน้อยถึง 3 ครั้ง โกรธจัด จึงทุบตีเมียหลวงเสียถึงตาย นางได้ไปเกิดเป็นแม่ไก่ในบ้านนั้นเช่นกัน พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง 3 ครั้ง แม่ไก่ผูกอาฆาตพยาบาทจองเวร ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่กวาง พอแม่กวางคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่กวางผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นแล้วไปเกิดเป็นนางยักษิณี ส่วนนางเสือไปเกิดเป็น หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็น หญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง พอครั้งที่ 3 หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้ ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น พอมาถึงจึงทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ ส่วนนางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวันเวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า" นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า "อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า "ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้มีศีล 5 สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วตัวเองก็ร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า"ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง ทั้งฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หาลัก หาขโมย ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้อง ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?" พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน, ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี ชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกพยากรณ์ให้กับทุกคน คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มากมายมาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทนนางยักษ์จัดทำของเหล่านั้นเป็น “สลากภัต” โดยให้พระสงฆ์ทำการจับสลาก จึงถือได้ว่า เป็นครั้งแรกในพุทธกาลที่มีการทำบุญ “สลากภัต” สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของนางยักษ์ษิณีและนางกุมาริกา เลิกจองเวรต่อกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้ สมดั่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท เบื้องตนนั้นว่า น หิ เวเรน เวรานิ   สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ  อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโน  แปลความว่า ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า  ดังพรรณนามาฉะนี้  เทสนา วสาเน อาตมาภาพเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดแห่งพระธรรมเทศานี้ อาตมาภาพ ขออ้างคุณแห่งพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พร้อมด้วยพระสงฆ์ จงมารวมกันเป็นตะบะ เป็นเดชะ เป็นพละวะปัจจัยอำนวยอวยชัย ให้คณะท่านเจ้าภาพ พร้อมด้วยญาติสนิทมิตรสหาย ญาติโยมทุกๆท่าน จงมีสุขภาพร่างกาย จิตใจที่แข็งแรง อายุมั่นขวัญยื่นปราศจากทุกข์ โศก โรคภัย อันตรายทั้งหลายทั้งปวง ทุกท่านทุกคนเทอญ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระประจำวันเกิด ภาษาอังกฤษ english version

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ THE ANLYTICAL STUDY OF THE VENERABLE BUDDHADASA’S THE LITERARY WORK OF HANDBOOK FOR MANKIND BUDDHADASA BHIKKHU โดย พระประสิทธิ์ ปภาธโร ๑.๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เมื่อครั้งพ่อขุนรามมหาราชโปรดให้จารึกบนแผ่นศิลา ซึ่งเรียกกันว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งมีเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับศาสนธรรม ศาสนประวัติ ศาสนพิธี ศาสนวัตถุแทรกอยู่ และต่อจากนั้นมาก็มีวรรณกรรมทางศาสนาติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นส่วนใหญ่มีเรื่องเกี่ยวกับศาสนพิธีกรรมและพระมหากษัตริย์ จึงมีเนื้อเรื่องคล้ายวรรณกรรมสุโขทัย ส่วนลักษณะการแต่งแตกต่างกับวรรณกรรมสุโขทัยเป็นอย่างมาก วรรณกรรมในสมัยนี้แต่งด้วยร้อยกรองทั้งสิ้นคำประพันธ์ที่ใช้เกือบทุกชนิด คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ ขาดแต่กลอนส่วนใหญ่แต่งเป็นลิลิต คำบาลี สันสกฤตและเขมรเข้ามาปะปนในคำไทยมากขึ้นวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น มีเรื่อ...

แปลหนังสือสุทธิ english version

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่าน