ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความหมายของกัมมัฏฐาน


              คำว่า กัมมัฏฐาน เป็นคำที่ติดปากชาวพุทธมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเข้าวัดฟังธรรมและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกจิต หลายๆ ท่านเมื่อพูดถึงคำนี้ อาจจะนึกถึงภาพของพระธุดงค์ ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติ มีปกติเดินทางไปตามที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาสถานที่สงบ และปฏิบัติธรรม บางท่านก็จะนึกถึงภาพของผู้คนที่กำลังหลับตา ในท่านั่งขัดสมาธิ แล้วท่องบ่นคำภาวนาซ้ำๆ หรืออีกหลายๆ อย่างที่จะนึกจินตนาการ แต่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่ากัมมัฏฐานเป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ ดั้งนั้นเพื่อให้ทราบและเข้าใจในความหมายของคำนี้ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นที่จะต้องทราบความหมายของคำว่า กัมมัฏฐานสืบต่อไป
               คำว่า กัมมัฏฐาน เมื่อแปลโดยรากศัพท์แล้ว หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงาน หรือที่ตั้งแห่งการกระทำ
คำว่า กัมมัฏฐาน ในพระไตรปิฎก ใช้เป็นคำกลางๆ ที่หมายถึงทั้งสถานที่ประกอบการงาน หรือแหล่งแห่งการงาน หรือธุรกิจของผู้ครองเรือนก็ได้ หรือหมายถึงวิธีการเจริญสมาธิก็ได้ ดังที่ปรากฏข้อความในสุภสูตร ที่สุภมาณพได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องผลของฐานะแห่งการงานหรือ การปฏิบัติกิจของคฤหัสถ์ที่มีการตระเตรียมมากมีกิจที่ต้องทำมาก กับบรรพชิตที่มีการ ตระเตรียมน้อย มีกิจที่ต้องทำน้อย ว่าอย่างไหนจะมีผลมากกว่ากัน พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า
“ เสยฺยถาปิ มาณว กสิเยว กมฺมฏฺŸฐานํ มหตฺถํ มหากิจฺจํ มหาธิกรณํ มหาสมารมฺภํ สมฺปชฺชมานํ มหปฺผลํ โหติ เอวเมว โข มาณว ฆราวาสกมฺมฏฺŸฐานํ มหตฺถํ มหากิจฺจํ มหาธิกรณํ มหาสมารมฺภํ สมฺปชฺชมานํ
“ ดูก่อนมาณพ เปรียบเหมือนฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีความเริ่มมาก เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อยฉันใด ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฐานะคือ กสิกรรมนั่นแล ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก ฉันใด ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก การงานคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฉันใด ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฐานะแห่งการงานคือการค้าขายนั่นแล ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก ฉันใด ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก
                คำว่า กัมมัฏฐาน ในพระสูตรนี้ จึงหมายถึงการดำเนินงานในหน้าที่หรือการประกอบอาชีพ ของคฤหัสถ์และบรรพชิต คำนี้ในฝ่ายคฤหัสถ์สามารถใช้ในความหมายของการประกอบอาชีพทั่วไปได้ ถ้าใช้กับฝ่ายบรรพชิตมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกิจวัตรทุกประเภทที่บรรพชิตควรปฏิบัติ ตลอดถึง การบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อละกิเลสด้วย
                สำหรับความหมายของคำว่า กัมมัฏฐาน ที่มีความหมายแคบลงและเราคุ้นเคยกัน หมายถึง การอบรมจิต หรือเป็นการเจริญสมาธินั้น เป็นคำรุ่นหลังที่พระอรรถกถาจารย์ชาวพุทธใช้กัน โดยเฉพาะพระพุทธโฆษาจารย์หรือพระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคัมภีร์ที่ได้รับการยกย่องว่า สรุปสาระสำคัญของคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้ ได้ใช้คำว่า กัมมัฏฐานนี้    ในวิสุทธิมรรคว่า หมายถึง อารมณ์กัมมัฏฐาน 40 อย่าง เพื่อการบรรลุสมาธิ
พระอนุรุทธเถระผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ย่อเนื้อความในอภิธรรมทั้ง 7 คัมภีร์ไว้ ใช้คำว่ากัมมัฏฐานนี้ เพื่ออธิบายถึงอารมณ์และวิธีเจริญสมถะและวิปัสสนา
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ อธิบายความหมายของคำว่า กัมมัฏฐาน ไว้ว่า ที่ตั้งของการกระทำ หมายถึง อารมณ์ของการอบรมจิตเพื่อให้ใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง  การกระทำอันเป็นที่ตั้ง (ของความสุขพิเศษ) หมายถึง การเจริญภาวนา  ส่วนในคัมภีร์อภิธัมมัตถภาวินี อธิบายความหมายของคำว่า กัมมัฏฐานไว้ 2 ประการ ได้แก่
              1.กัมมัฏฐาน คือ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของการกระทำ เพราะเป็นที่ดำเนินไปแห่งการเจริญภาวนา ทั้งสองอย่าง
             2.กัมมัฏฐาน คือ ลำดับภาวนาอันเป็นเหตุใกล้ของการกระทำ เพราะเป็นเหตุใกล้ของการบำเพ็ญเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป
(1.2.1) กัมมัฏฐานหมายถึงอารมณ์
                คำว่า กัมมัฏฐานที่หมายถึงอารมณ์นี้ โดยปกติจะบ่งถึงวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งใจหรือความคิดไปจดจ่ออยู่ โดยใช้อารมณ์นั้นเป็นสิ่งสนับสนุนหรือเป็นกัมมัฏฐาน ในทางจิตวิทยาคำนี้จะบ่งถึงวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง กับความรู้สึก และความคิดที่เป็นนามธรรม ซึ่งเมื่อมีการสัมผัสกันแล้ว ย่อมก่อให้เกิดกระบวนการแห่ง การรู้แจ้งขึ้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำนี้หมายถึงสิ่งภายนอกอันใดอันหนึ่ง ซึ่งปรากฏขึ้นทางประสาท ทั้ง 5 ของมนุษย์ และหมายถึงความประทับใจ ซึ่งเกิดจากประสาทสัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้น ซึ่งความหมาย หลังนี้ ให้ความสนับสนุนแก่จิตและทำให้จิตยึดเหนี่ยวแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามหลักคำสอนใน คัมภีร์อภิธรรม จิตจะไม่เกิดกระบวนการรับรู้ จนกว่าจะได้รับการกระตุ้นจากวัตถุภายนอกที่มากระทบ ประสาททั้ง 5 วัตถุภายนอกเหล่านี้เรียกว่า อารมณ์ เป็นวัตถุที่สนับสนุน ยึดเหนี่ยวจิต ดังนั้นอารมณ์จึงบ่งถึงวัตถุภายนอกซึ่งตารับรู้และภาพแทนสิ่งเหล่านั้น หรือความประทับใจต่อสิ่งเหล่านั้นซึ่งเกิดขึ้น ในจิต และกระตุ้นให้กระบวนการคิดทำงาน
หากจะสรุปให้ง่าย อารมณ์ก็คือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ให้เกิดสมาธิหรือวัตถุที่ใช้ฝึกจิต มีกสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสติ 10 เป็นต้น
(1.2.2) กัมมัฏฐานหมายถึงวิธีการเจริญสมาธิ
                 กัมมัฏฐานที่หมายถึงวิธีการเจริญสมาธิ คือ วิธีการปฏิบัติเพื่อให้การภาวนาดำเนินไปอย่าง ถูกต้องจนกว่าจะสำเร็จ โดยเพ่งเล็งถึงการเลือกสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่อำนวยให้เกิด ความสำเร็จงานทางใจเป็นสำคัญ สิ่งแวดล้อมนั้นได้แก่ อาจารย์ สถานที่ บทภาวนา ความพร้อมของจิตใจ และการอุทิศเวลาให้กับการฝึกใจ
2. กัมมัฏฐานและคำที่เกี่ยวข้อง
          ในเรื่องของการฝึกจิต นอกเหนือจากคำว่า กัมมัฏฐานเรามักจะได้ยินคำอีกหลายๆ คำ ที่หมายถึงเรื่องของการฝึกจิต เช่น สมาธิ การเจริญภาวนา เป็นต้น ดังนั้นเราจะได้ ศึกษาเพิ่มเติมในคำเหล่านี้
            คำว่า สมาธิ เป็นศัพท์สำคัญ ที่ถือว่าเป็นศัพท์ดั้งเดิมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ด้วยพระองค์เอง เพราะศัพท์นี้ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ คำว่า สัมมาสมาธิ เพื่อบ่งบอกถึงข้อปฏิบัติสายกลางเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ในทางวิชาการ คำว่า สมาธิ มีความหมายถึงระดับของจิต และวิธีที่กำหนดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดจิตระดับนั้นขึ้นมา  ในบทสนทนาระหว่างนางธรรมทินนาภิกษุณีกับอุบาสก นามว่า วิสาขะ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ได้มีการอธิบายว่า สมาธิมีความหมายถึงทั้งระดับของจิต และเป็นวิธีการฝึกจิตแบบหนึ่ง
อุบาสกวิสาขะ ถามว่า พระแม่เจ้า ธรรมอะไรเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นนิมิตแห่งสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นบริขารของสมาธิ สมาธิภาวนาอย่างไร
นางธรรมทินนาภิกษุณี ตอบว่า วิสาขะ ความที่จิตเป็นสภาพมีอารมณ์อันเดียว อันนี้เป็นสมาธิ สติปัฏฐาน 4 เป็นนิมิตแห่งสมาธิ สัมมัปปธาน 4 เป็นบริขารของสมาธิ ความเสพธรรมเหล่านั้นเนืองๆ การให้ธรรมเหล่านั้นเจริญ การทำให้ธรรมนั้นมากขึ้น อันนี้เป็นสมาธิภาวนา
จากบทสนทนานั้นพบว่า สมาธิ หมายถึง สภาวะของจิตระดับหนึ่ง ที่ตรงกับภาษาบาลีว่า จิตฺตสฺส เอกคฺคตา หมายถึง ความที่จิตมีธรรมชาติเป็นอารมณ์เดียว คำจำกัดความนี้เป็นคำจำกัดความ ที่พบได้ในพระสูตรต่างๆส่วนในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้คำจำกัดความเช่นเดียวกัน แต่ให้ความหมายของสมาธิมากยิ่งขึ้นว่า กุสลจิตฺเตกคฺคตา ซึ่งหมายถึง ความเป็นหนึ่งของจิตที่เป็นกุศล
นอกจากนี้ สมาธิยังหมายถึง วิธีหรือระบบแห่งการฝึกสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่สภาพของจิตที่ สมดุลและสงบ วิธีการฝึกจิตนี้จึงเรียกว่า สมาธิ หรือ สมาธิภาวนา ดังที่นางธรรมทินนาได้ยกมากล่าวว่า วิธีถึงสมาธิ ก็คือภาวนานั่นเอง แต่เมื่อใช้คำว่าสมาธิในความหมายว่า วิธี จะต้องเข้าใจว่า หมายถึง ระบบ ซึ่งนำไปสู่สมาธิในขั้นต้น คือ ก่อนจะบรรลุวิปัสสนา  ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า คำว่า สมาธิ หมายถึงสภาพของจิตซึ่งจะต้องผ่านการพัฒนาด้วยวิธี การฝึกที่มีระบบนั่นเอง
2.2. ภาวนา
                คำว่า ภาวนา เป็นคำที่บ่งถึงการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตอย่างเดียวเท่านั้นในลักษณะที่กว้างขวาง คำนี้ครอบคลุมถึงระบบทั้งหมด เมื่อคำว่า ภาวนา ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ โดยปกติจะบ่งถึงการปฏิบัติ หรือ การปลูกฝังสมาธิ คำว่า ภาวนา มักใช้ร่วมกับคำซึ่งบ่งถึงอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่น ฌานภาวนา สมาธิภาวนา เมตตาภาวนา เป็นต้น เพื่อแบ่งแยกสมาธิชนิดต่างๆ ออกไป และนิยมใช้คู่กับคำว่า จิต คือ จิตตภาวนา ซึ่งหมายถึง การอบรมจิต หรือการพัฒนาจิต ในระหว่างการฝึกสมาธิอันมีระบบนั้น จิตย่อมได้รับการฝึกจนกระทั่งอำนาจจิตทั้งหมดถูกนำเข้ามารวมกัน เมื่อสมาธิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจิตก็บรรลุถึงความเป็นใหญ่ในตัวเอง ในสภาพเช่นนี้ จิตย่อมสามารถต้านทานกระแสแห่งความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ตาม จิตย่อมสามารถทนต่อความเจ็บปวดปางตายและตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งยั่วเย้าทางประสาทสัมผัส ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเรียกว่า จิตตภาวนา และเกี่ยวพันถึงการอบรมทางจิตและทางร่างกาย ระบบของการฝึกสมาธิทั้งหมด อธิบายไว้ในหนังสือคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ โดยใช้คำว่า จิตตภาวนา ในการเจริญภาวนา นอกจากมีการดำเนินไปของจิตแล้ว ยังมีการใช้คำกล่าวบางอย่างขณะ เจริญภาวนาแบบต่างๆ เช่น ใช้คำว่า ปฐวีในการเพ่งกสิณ ใช้คำว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข ในการแผ่เมตตา เช่นนี้ก็เรียกว่า ภาวนา
นอกจากนี้ คำว่า ภาวนา ยังเป็นการคิดในลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งเพื่ออบรมคุณธรรมบางอย่างให้มีในตน เช่น เมื่อเจริญเมตตาภาวนา บุคคลจะไม่คิดถึงเฉพาะมิตรภาพเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ มิตรภาพเกิดขึ้นและเจริญมากยิ่งขึ้นในใจของเขาด้วย เพื่อจะได้ขจัดเสียซึ่งความคิดผูกพยาบาท ความคิดเกลียดชัง และความคิดอื่นๆ ที่จะมีต่อศัตรู และในที่สุดผู้ปฏิบัติก็จะมีความเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ในความหมายนี้ภาวนาจึงเป็นคุณธรรมที่เหมาะสมยิ่ง โดยสรุป คำว่า ภาวนา หมายถึง การสะสมคุณธรรมทั้งหลายไว้ในตนเพื่อที่จะบรรลุนิพพาน ยิ่งกว่านั้น ภาวนายังเป็นคำแพร่หลายและใช้เสมอแทนคำว่าสมาธิ
3. ประเภทของกัมมัฏฐาน
              ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง วิชชาภาคิยธรรม หมายถึง ธรรมอันเป็นส่วนแห่งการรู้แจ้ง สภาวะธรรมตามความเป็นจริง โดยแบ่งเป็น 2 อย่าง ดังพุทธพจน์ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม 2 อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ 1 วิปัสสนา 1 วิชชาภาคิยธรรมนี้ เป็นคำในพระไตรปิฎก ที่ใช้แทนคำว่า กัมมัฏฐาน แต่เมื่อกล่าวถึงกัมมัฏฐานในคัมภีร์ทั้งหลาย ก็ระบุไว้โดยเฉพาะว่า กัมมัฏฐาน มี 2 ประเภท คือ
1.สมถกัมมัฏฐาน หมายถึง การทำให้จิตสงบ
2.วิปัสสนากัมมัฏฐาน หมายถึง การใช้ปัญญาพิจารณากฎธรรมดาเมื่อจิตสงบลง
สรุป  ความหมายของกัมมัฏฐาน
          กัมมัฏฐาน คือ อารมณ์ที่ตั้งแห่งการงานของใจ หมายถึง สิ่งที่ยึดเหนี่ยวผูกใจไว้ไม่ไห้ฟุ้งซ่าน ให้ใจสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์กัมมัฏฐานนั้นๆ เพื่อควบคุมใจให้สงบหรือให้เกิดปัญญา ตามวิธีที่เลือกปฏิบัติ ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ใช้คำว่า ภาเวตัพพธรรมและวิชชาภาคิยธรรม หรือ ภาวนา ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า การทำให้เกิด การทำให้มีขึ้น การทำให้เป็นขึ้น เมื่อทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นขึ้นแล้ว ต้องทำให้เจริญงอกงามขึ้นด้วย ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน มี 2 อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา




อ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์), 2546 หน้า 16.
สุภสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, บาลี สยามรัฐ เล่ม 13 ข้อ 713 หน้า 652.
สุภสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 713 หน้า 430.
สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 34.
อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี, พระคันธสาราภิวงศ์ แปล, สำนักพิมพ์ตาลกุด, 2546 หน้า 760.
สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 35.
สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 25.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,20/173/127 พระไตรปิฎกภาษาไทย:กรุงเทพมหานคร,2539

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระประจำวันเกิด ภาษาอังกฤษ english version

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องคู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ THE ANLYTICAL STUDY OF THE VENERABLE BUDDHADASA’S THE LITERARY WORK OF HANDBOOK FOR MANKIND BUDDHADASA BHIKKHU โดย พระประสิทธิ์ ปภาธโร ๑.๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เมื่อครั้งพ่อขุนรามมหาราชโปรดให้จารึกบนแผ่นศิลา ซึ่งเรียกกันว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งมีเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับศาสนธรรม ศาสนประวัติ ศาสนพิธี ศาสนวัตถุแทรกอยู่ และต่อจากนั้นมาก็มีวรรณกรรมทางศาสนาติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นส่วนใหญ่มีเรื่องเกี่ยวกับศาสนพิธีกรรมและพระมหากษัตริย์ จึงมีเนื้อเรื่องคล้ายวรรณกรรมสุโขทัย ส่วนลักษณะการแต่งแตกต่างกับวรรณกรรมสุโขทัยเป็นอย่างมาก วรรณกรรมในสมัยนี้แต่งด้วยร้อยกรองทั้งสิ้นคำประพันธ์ที่ใช้เกือบทุกชนิด คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ ขาดแต่กลอนส่วนใหญ่แต่งเป็นลิลิต คำบาลี สันสกฤตและเขมรเข้ามาปะปนในคำไทยมากขึ้นวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น มีเรื่อ...

แปลหนังสือสุทธิ english version

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่าน